Accent VS Pronunciation

สำหรับคนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษเพื่อเน้นใช้ในการพูดสื่อสารกับคนต่างชาติแล้ว คงรู้จัก Accent และ Pronunciation กันมาบ้าง ทั้งสองอย่างนี้มีความสำคัญต่อการที่คนต่างชาตินั้นจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจสิ่งที่เรากำลังพูดกับเขา ว่าแต่อะไรสำคัญกว่ากันล่ะ ระหว่าง “Accent” กับ “Pronunciation”

คำว่า accent คือสำเนียง ไม่ว่าคนชาติใดก็ล้วนมีแต่สำเนียงของตัวเองทั้งสิ้น อย่าว่าแต่แขก จีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง ลาว คนไทยเราเองก็ยังมีสำเนียงกลาง เหนือ อีสาน ใต้ มิหนำซ้ำยังแยกย่อยไปตามท้องถิ่นอีก อำเภอนี้เหน่อ ตำบลนั้นห้วน จังหวัดนั้นฮิ… เจ้า accent หรือสำเนียงนี้ มันติดตัวพวกเรามาตั้งแต่กำเนิด เราถูกเลี้ยงดูโดยใครหรือใครสอนพูดตั้งแต่เป็นทารก เราก็จะติดสำเนียงนั้นมาโดยอัตโนมัติ แล้วก็แก้ไขย้าก..ยาก นอกจากจะพยายามกันจริงๆจังๆ แต่ก็ยังย้าก…ยากอยู่ดี ลองให้คนใต้มาพูดอีสานดูสิ ยังไงๆก็ออกทองแดงให้สังเกตจนได้ หรือฝรั่งที่ว่าพูดไทยชัดเปรี๊ยะ ยังไงๆเราก็ฟังออกอยู่ดีว่าฝรั่ง

ส่วน pronunciation คือการออกเสียง นี่คือจุดอ่อนของคนไทยเลยละค่ะ แบบเบสิคเลยก็อย่างเช่น เราพูดแยกเสียงกันไม่ค่อยออกระหว่าง shin – chin , rice – lice , dare – there , June – tune , boat – both , foot – food , election – erection ถ้าออกเสียงผิดความหมายก็ผิดจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว อีกเรื่องคือเราเน้นเสียงหนักเบากันไม่ถูก ตัวอย่างง่ายๆเช่น “present” ถ้าเป็นคำนามที่แปลว่าของขวัญ ก็จะต้องลงเสียงหนักที่พยางค์แรก แต่ถ้าเป็นคำกริยาที่แปลว่านำเสนอก็ต้องลงเสียงหนักที่พยางค์หลัง หรือคำว่า “desert” กับ “dessert” คำแรกลงเสียงหนักพยางค์แรกแปลว่าทะเลทราย คำหลังลงเสียงหนักพยางค์หลังแปลว่าของหวาน เป็นต้น

เอาล่ะ เรามาเข้าคำถามที่ว่า แล้วอะไรสำคัญกว่ากันล่ะ ระหว่าง “Accent” กับ “Pronunciation”

เอาอย่างนี้นะ ถ้าคุณเรียนพูดภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยกับเจ้าของภาษา (อย่างเช่นนักเรียนเซนต์ปอลที่เรียน EIS มาตั้งแต่อนุบาล) ทั้ง Accent กับ Pronunciation ของคุณจะต้องเป๊ะเว่ออยู่แล้ว ก็ต้องตอบว่ามันสำคัญพอๆกันนั่นแหละ แต่ถ้าคุณเพิ่งจะมาฝึกเอาตอนโตล่ะ ลิ้นก็แข็ง จำก็ยาก เมมโมรี่ก็จำกัด โอกาสรุ่งเรืองน้อยเต็มที ขอแนะนำให้เลือก Pronunciation เถอะค่ะ อย่างน้อยก็คิดว่าออกเสียงถูก ความหมายถูก ฝรั่งต้องหรือควรต้องเดาออกว่าเราต้องการสื่อสารอะไร (ก็มันเป็นภาษาของเขานี่นา) ยึดคติที่ว่า “สำเนียงไทยแท้แต่พูดถูกทุกคำ” น่าจะดีกว่า “สำเนียงฝรั่งจ๋า แต่ได้คำตอบว่า I don’t know exactly what you mean?” ใช่ไหมคะ

(บทความโดย ครูปาริชาต วรรณวัฒน์)

ลูกเห็บเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
เคยเจอไหม? คุณคือผู้โชคดีได้รับ iPhone X (Phishing : การต้มตุ๋น)