วิกฤตภาษาไทย : วิบัดพาสาชาด

โลกของเราในยุคปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  มีหลายอย่างเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย  กาลเวลาได้สร้างค่านิยมให้แก่มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย อาหารการกิน แฟชั่น เครื่องมือสื่อสาร การศึกษา ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว บ้างก็ก่อให้เกิดผลที่ดีขึ้น บ้างก็ลิดรอนประโยชน์ ก่อให้เกิดโทษแต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ทุกคนในสังคมไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ  การใช้ภาษา  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ  โดยเฉพาะภาษาเขียน พบว่า การเขียนภาษาไทยในปัจจุบันมีการเขียนผิดมาก โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์  และมีการคิดค้นคำเขียนหรือคำพูดที่ผิดออกไปจากการเขียนที่ถูกต้องของภาษาไทย

ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นรวมถึงการสื่อสารที่ทันสมัยทำให้เกิดค่านิยมใหม่ ๆ ขึ้น ซึ่งเยาวชนไทยในปัจจุบันหรือวัยรุ่นไทยได้รับค่านิยมที่ผิด ๆ มาใช้ นั่นคือการใช้ภาษาแบบผิด ๆ โดยไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ส่วนใหญ่วัยรุ่นจะคิดว่าเป็นเรื่องที่เก๋ เท่ห์ หากไม่ได้ใช้ภาษานี้จะถูกมองว่า “ตกเทรนด์” แต่หารู้ไม่ว่า การใช้ภาษาเหล่านี้ทำให้ภาษาไทยของเราเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงและทำให้เยาวชนรุ่นหลังใช้ภาษาที่ผิด ๆ ตามไปด้วย ประเทศไทยเรานั้นมีภาษาชาติ เป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง แสดงถึงความเป็นเอกราชทางภาษาและความภาคภูมิใจ แต่เยาวชนบางส่วนกลับไม่รู้คุณค่าของสิ่งล้ำค่านี้

โดยเยาวชนกลุ่มนั้นคิดว่าเมื่อการใช้ภาษาไทยที่ผิด ๆ ของวัยรุ่นนั้นเป็นสิ่งที่จะทำให้ภาษาไทยวิบัติลงไปจริง ๆ ซึ่งจะเห็นได้จากที่วัยรุ่นใช้สื่อสารกันทาง   MSN   Line  Facebook หรือ Twitter  เช่นคำว่า หวัดดี/หวาดดี-สวัสดี, ทามไรอยุ่-ทำอะไรอยู่, ฝรรดีนะ/ฝานดีนะ-ฝันดีนะ, ค่า/คร๊ะ/ค้ะ-คะ, ชิมิ/ชิมะ/ชะมะ-ใช่ไหม, ขอโทดนะค่ะ-ขอโทษนะคะ เป็นต้น คำเหล่านี้มีผลทำให้พิมพ์ง่าย สื่อสารกันได้เร็ว แต่ถ้าคิดอีกแง่มุมหนึ่ง การที่ภาษาไทย 1 คำ สามารถเขียนได้หลายแบบ อาจเป็นเพราะภาษาไทยมีพยัญชนะที่ออกเสียงเหมือน ๆ กัน มีสระที่เสียงคล้าย ๆ กัน จึงทำให้สามารถเขียนออกมาได้หลายแบบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาษาไทยนั้นสามารถดัดแปลง เปลี่ยนแปลงคำได้หลากหลาย โดยที่ความหมายเหมือนเดิม แต่ลักษณะการเขียนผิดออกไป เป็นเสมือนการสร้างคำ สร้างภาษาให้มีการวิบัติมากขึ้น

การที่คนไทยเรา พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยเป็นประจำทุกวัน จนเกิดความเคยชิน อาจจะทำให้หลาย ๆ คนไม่รู้สึกว่า “ภาษาไทย” มีความสำคัญแค่ไหน และมีคุณค่าเพียงไร หากจะเปรียบก็คงเหมือนกับ “อากาศ” ที่เราหายใจเข้าหายใจออกอยู่ตลอดเวลา จนเราแทบไม่รู้ค่าว่า หากขาดอากาศเมื่อไร เราก็ตายเมื่อนั้น ถึงแม้ว่า “ภาษาไทย” จะไม่เหมือนอากาศที่ทำให้เราถึงกับตาย แต่ถ้าหากชาติไทยเราขาด “ภาษาไทย” แล้วเราจะภาคภูมิใจในภาษาที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมได้อย่างไร

ดังนั้น เราทุกคนในชาติควรร่วมกันอนุรักษ์ภาษาไทย ฝึกฝนการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องจนเกิดความชำนาญในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร แสดงออกทักษะทางภาษาด้วยการแสดงความคิดเห็น ความรู้และประสบการณ์อย่างพินิจพิเคราะห์ สามารถเลือกใช้คำ เรียบเรียงความคิด ความรู้ และใช้ภาษาได้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ได้ตรงตามความหมาย และถูกต้องตามกาลเทศะบุคคลและใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รักษาความเป็นไทย  เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และสืบทอดความภาคภูมิใจในฐานะ “คนไทย” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

เรียบเรียงโดย

นายสมบูรณ์  ทองสำอางค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

เคยเจอไหม? คุณคือผู้โชคดีได้รับ iPhone X (Phishing : การต้มตุ๋น)
แนวทางการจัดการเรียนการสอนด้วย Google Classroom