แนวทางการจัดการเรียนการสอนด้วย Google Classroom

ในปัจจุบันสถานศึกษา ผู้สอน  ผู้เรียน สามารถเข้าถึงความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่มากมายบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  มีการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยจัดการเรียนการสอนให้สามารถนำความรู้ดังกล่าวมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด  ทั้งในด้านการจัดการชั้นเรียนของผู้สอน  ความสะดวกสบายในการเข้าถึงความรู้ของผู้เรียน  เครื่องมือที่ช่วยจัดการชั้นเรียน  เช่น  Edmodo, Socrative, MoodleMobile, Student Organizer และ  Google Apps for education ที่ทางโรงเรียนเซนต์ปอลคอนแวนต์ของเราได้นำมาให้คุณครูและนักเรียนได้ใช้กัน (ใครยังไม่รู้จัก Google Apps for Education <<คลิก!! >>)

บทความนี้ขอแนะนำ Google Classroom ในชุดของ Google Apps for education ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือจัดการเรียนการสอนที่กูเกิลอนุญาตให้โรงเรียน มหาวิทยาลัย หน่วยงานด้านการศึกษา ใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถจัดการการเรียนรู้แบบทำงานร่วมกันได้ทุกที่ทุกเวลา

Google Classroom คือ?

Classroom คือบริการบนเว็บฟรีสำหรับโรงเรียน องค์กรการกุศล และทุกคนที่มีบัญชี Google ส่วนบุคคล และ Classroom ยังช่วยให้ผู้เรียนและผู้สอนเชื่อมต่อถึงกันได้ง่าย ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน

Google Classroom ใช้ทำอะไรได้บ้าง?

ผู้สอนสามารถใช้ Google Classroom เพื่อจัดการชั้นเรียนได้  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • เพิ่มผู้เรียน  หรือแจ้งรหัสเพื่อให้ผู้เรียนเข้าชั้นเรียนได้
  • สร้าง  ตรวจ  และให้คะแนนงาน
  • ตรวจสอบกำหนดการส่งงาน  สถานะการส่งงานและคะแนน
  • เนื้อหาที่อยู่ในชั้นเรียนจะถูกจัดเก็บอยู่ใน Google Drive
  • ส่งประกาศ แชร์แหล่งข้อมูล พูดคุยหรือตอบคำถามตามหัวข้อที่ผู้สอนกำหนดให้
  • เพิ่มผู้สอนได้มากกว่าหนึ่งคนในรายวิชาเดียวกัน
  • ใช้ผ่านอุปกรณ์ได้หลายชนิด  เช่น คอมพิวเตอร์  แท็บเล็ต  สมาร์ทโฟน

ข้อดีของ Google Classroom

  • ตั้งค่าง่าย ครูสามารถสร้างชั้นเรียน เชิญนักเรียน และผู้สอนร่วม จากนั้นครูจะสามารถแชร์ข้อมูลต่างๆ ได้แก่ งาน ประกาศ และคำถามในสตรีมของชั้นเรียนได้
  • ประหยัดเวลาและกระดาษ ครูสามารถสร้างชั้นเรียน แจกจ่ายงาน สื่อสาร และจัดรายการต่างๆ ให้เป็นระเบียบอยู่เสมอได้ในที่เดียว
  • จัดระเบียบได้ดีขึ้น นักเรียนสามารถดูงานได้ในหน้าสิ่งที่ต้องทำ ในสตรีมของชั้นเรียน หรือในปฏิทินของชั้นเรียน โดยเนื้อหาประกอบทั้งหมดของชั้นเรียนจะเก็บไว้ในโฟลเดอร์ Google ไดรฟ์โดยอัตโนมัติ
  • การสื่อสารและการแสดงความคิดเห็นที่ปรับปรุงขึ้น ครูสามารถสร้างงาน ส่งประกาศ และเริ่มการอภิปรายในชั้นเรียนได้ทันที นักเรียนก็สามารถแบ่งปันแหล่งข้อมูลร่วมกับเพื่อนๆ และโต้ตอบกันได้ในสตรีมของชั้นเรียนหรือผ่านทางอีเมล ครูสามารถดูได้อย่างรวดเร็วว่าใครทำงานเสร็จหรือไม่เสร็จบ้าง ตลอดจนสามารถแสดงความคิดเห็นและให้คะแนนโดยตรงได้แบบเรียลไทม์
  • ใช้ได้กับแอปที่คุณใช้อยู่ Classroom ใช้ได้กับ Google เอกสาร, ปฏิทิน, Gmail, ไดรฟ์ และฟอร์ม
  • ประหยัดและปลอดภัย Classroom ให้คุณใช้งานฟรี ไม่มีโฆษณา และไม่ใช้เนื้อหาของคุณหรือข้อมูลของนักเรียนเพื่อการโฆษณา

 

รูปที่ 1 ตัวอย่างกระบวนการทำงานของ Google Classroom
รูปที่ 1 ตัวอย่างกระบวนการทำงานของ Google Classroom

แนวทางการจัดการเรียนการสอนด้วย Google Classroom

การนำ  Google  Classroom  มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน  สถานศึกษาจัดเตรียม Google  Account ให้กับผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งสามารถนำมาใช้จัดการเรียนรู้ได้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้  รวมทั้งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน   ตัวอย่างการจัดการวิชาต่างๆ ในชั้นเรียนด้วย  Google  Classroom  ดังรูปที่  2  และ  3

รูปที่ 2 ตัวอย่างชั้นเรียนใน Google Classroom ผ่านเว็บบราวเซอร์
รูปที่ 2 ตัวอย่างชั้นเรียนใน Google Classroom ผ่านเว็บบราวเซอร์
รูปที่ 3 ตัวอย่างชั้นเรียนใน Google Classroom ผ่านสมาร์ทโฟน App
รูปที่ 3 ตัวอย่างชั้นเรียนใน Google Classroom ผ่านสมาร์ทโฟน App

การเตรียมความพร้อมของผู้สอนโดยผู้สอนจะเป็นคนสร้างชั้นเรียน  ในที่นี้ผู้สอนสามารถสร้างห้องเรียนแต่ละห้อง  เช่น ม.6/1, ม.6/2   เพื่อสะดวกในการจัดการเรียน และแจ้งรหัสชั้นเรียนให้ผู้เรียนทราบ  โดยอาจจะแจ้งในห้องเรียน  แจ้งผ่านอีเมล  หรือแจ้งผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ  เช่น Line  Google+ Facebook ดังรูปที่ 4

รูปที่ 4 ภาพตัวอย่างการเข้าร่วมชั้นเรียนด้วยรหัสชั้นเรียน
รูปที่ 4 ภาพตัวอย่างการเข้าร่วมชั้นเรียนด้วยรหัสชั้นเรียน

 

ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้บริการของ Google  Classroom  ให้สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน โดยเริ่มต้นจากการทำกิจกรรมง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจอยากรู้ เช่น ตอบคำถามหรือแบบฝึกหัด แล้วจึงพัฒนาเป็นลำดับต่อๆ ไป โดยประยุกต์ใช้ร่วมกับการเรียนการสอนในห้องเรียน

ผู้สอนสามารถติดตามและวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้เรียนจากการสังเกต การเข้าร่วมเรียนและการส่งงานของผู้เรียนผ่าน  Google  Classroom  ได้  จากประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ของผู้เขียนพบว่า  ทำให้ผู้เรียนมีวินัยในการส่งงาน มีความสนใจเรียนมากขึ้น  ปริมาณการส่งงานเพิ่มขึ้น  ผู้เรียนพอใจที่จะเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์ของตนเองนอกเวลาเรียน  เพราะเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาและกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

บทสรุป

Google Classroom เป็นบริการที่ผู้สอนสามารถนำมาใช้จัดการเรียนรู้ โดยผู้สอนควรออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพห้องเรียนปกติ บริการของ Google Classroom ทำให้เรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาตามต้องการ ผู้เรียนจึงพอใจที่จะเรียนรู้ สามารถสร้างชิ้นงาน ทำการบ้านหรือติดตามงาน ถึงแม้บริการจะอำนวยสะดวกและมีข้อดีหลายประการ การเรียนในชั้นเรียนยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีครูควบคู่กันไป  เพราะเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนครูผู้สอนได้ทั้งหมดโดยเฉพาะเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. Google.  ศูนย์ช่วยเหลือของ Google Classroom,  [ออนไลน์]. 
    เข้าถึงจาก  https://support.google.com/edu/classroom/?hl=th#topic=6020277 [2016,Jan 25]
  2. Google.  ทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานของ Classroom,  [ออนไลน์]. 
    เข้าถึงจาก https://support.google.com/edu/classroom/answer/6020260?hl=th&ref_topic=6020277 [2016,Jan 25]
  3. สสวท. แนวทางการจัดการเรียนการสอนด้วย GOOGLE CLASSROOM, [ออนไลน์]
    เข้าถึงจาก  http://oho.ipst.ac.th/google-classroom-learning-approach/ [2018, Feb 23]
วิกฤตภาษาไทย : วิบัดพาสาชาด
ข้อคิดชีวิตงาม โดย ม.ชูชาติ