ใครๆ ก็ย่อมอยากให้ลูกน้อยเกิดมามีร่างกายสมบูรณ์สุขภาพแข็งแรง
และต้องการเลี้ยงดูให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่สมวัย
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจกังวลว่า
ลูกของเรามีพัฒนาการบางอย่างช้าไปหรือเปล่า
เช่น เดินช้า พูดช้า
ซึ่ง พญ.สุณีย์ เชื้อสุวรรณชัย กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
ประจำแผนกกุมารเวช โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา
จะมาบอกถึงการพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กในแต่วัย
เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตได้ว่า ลูกมีพัฒนาการที่ดีหรือไม่ และควรปรึกษาแพทย์หรือยัง
3 ศาสตร์ด้านการดูแลลูกน้อยด้านการพัฒนาการและพฤติกรรม
การดูแลลูกน้อยให้มีพัฒนาการที่สมวัย ต้องดูถึง 3 ด้านใหญ่ๆ
โดยแพทย์กุมารเวชนับเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญที่จะช่วยให้
คุณพ่อคุณแม่เข้าใจลูก และแนะนำการดูแลอย่างถูกวิธี ดังนี้
1.ด้านพัฒนาการเด็ก คือ ดูแลในเรื่องของพัฒนาการหรือความสามารถของเด็ก
ในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนโตเป็นวัยรุ่น
ประกอบ ด้วย 4 ด้านหลัก
คือด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่
ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก
ด้านภาษาและการสื่อสาร
ด้านสังคมและการปรับตัว
2.ด้านพฤติกรรมเด็ก คือ ดูแลเรื่องอารมณ์และการแสดงออกที่เหมาะสมของเด็ก
ต่อบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อม แพทย์จะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจในสิ่งที่เด็กแสดงออก
หากมีปัญหาก็จะหาแนวทางในการแก้ไขร่วมกัน
3.ด้านการเจริญเติบโต คือ ส่งเสริมให้มีส่วนสูงและน้ำหนัก
ที่เหมาะสมตามเพศและวัย
*ปัญหาด้านพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กที่พบบ่อย
*ปัญหาที่พบบ่อยในกลุ่มเด็กเล็กจะเป็นเรื่องของกล้ามเนื้อทำงานไม่ดี
เช่น คลานไม่ได้ เดินไม่ได้ พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด ออทิสติก ซน สมาธิสั้น
ส่วนในเด็กโตจะเป็นปัญหาเรื่องการเรียน เรียนตก ซ้ำชั้น อ่านเขียนไม่ได้
คำนวณไม่ได้ มีปัญหาการเข้าสังคม การอยู่ร่วมกับเพื่อนและครู
บางคนไม่ยอมไปโรงเรียน กัดเพื่อน บางคนโตแล้วยังปัสสาวะรดที่นอน
ส่วนวัยรุ่นเป็นเรื่องของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากของร่างกาย
และอารมณ์รุนแรง บางคนติดเกม หนีเรียน หรือพึ่งพาบุหรี่
ดื่มของมึนเมาเพื่อการเข้าสังคมเพื่อน
ถ้าปัญหาด้านพัฒนาการไม่ได้รับการแก้ไขจะส่งผลในระยะยาว
ปัญหาด้านการเจริญเติบโต พัฒนาการ และอารมณ์ของเด็ก
โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นปัญหาที่ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วแต่แรก
อาจส่งผลในระยะยาว และแก้ไขได้ยากในอนาคต
เช่น ถ้าปล่อยให้เด็กผอมมาก ตัวเล็ก แคระแกรน พอโตมาอยากสูงก็ทำได้ยาก
หรือเด็กที่มีพัฒนาการช้า เด็กออทิสติก โตมาช่วยตัวเองไม่ได้ พูดไม่ได้
ไปเรียนไม่ได้ แต่ถ้าเด็กได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เล็ก
หรือตั้งแต่สังเกตพบความผิดปกติ ก็สามารถโตขึ้นแบบมีพัฒนาการที่ดี
เหมือนเด็กทั่วไปได้ เด็กบางคนฉลาดแต่มีปัญหาด้านการเขียน การอ่าน
ทำให้เรียนหนังสือไม่ได้ต้องออกจากโรงเรียน ถ้าได้รับการดูแลที่เหมาะสม
ตั้งแต่อนุบาล ก็สามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้
เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างรวดเร็ว
แบบไหนที่เรียกว่ามีพัฒนาการด้านร่างกายช้า
พัฒนาการทางด้านร่างกายช้า หมายถึง เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กปกติ
ในวัยเดียวกัน ซึ่งแม้ว่าเด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน
แต่การเรียนรู้ของเด็กมักเกิดขึ้นตามลำดับเหมือนๆ กัน
เช่น เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มคลานได้ก่อนเดิน
หรือสามารถส่งเสียงได้ก่อนที่จะเริ่มพูดออกมาเป็นคำ เป็นต้น
ตัวอย่างของเด็กที่มีพัฒนาการช้า เช่น เด็กอายุ 18 เดือน
ต้องเริ่มมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
โดยใช้ท่าทางหรือการเคลื่อนไหว ซึ่งเด็กปกติจะเริ่มเรียนรู้ที่จะเดิน
และเดินได้ในช่วงอายุ 9-15 เดือน แต่ถ้าอายุ 20 เดือนแล้ว
แต่ยังไม่สามารถเดินได้ ถือว่ามีพัฒนาการช้า
ควรได้รับการตรวจเพื่อหาว่าความผิดปกติเกิดขึ้นจากอะไร
วิธีสังเกตพัฒนาการด้านร่างกายของลูกรักตามช่วงวัย
อายุ 1 เดือน สามารถกำมือ อยู่ในท่าคว่ำมือได้
อายุ 2 เดือน สามารถชันคอได้ประมาณ 30 องศา
นำมือเข้ามาสู่แนวกลางลำตัว และสามารถคลายออกเมื่อเห็นวัตถุได้
อายุ 3 – 6 เดือน สามารถเคลื่อนไหวแขนและมือทั้งสองข้างได้
กำมือหลวมได้ ชันคอได้มากขึ้น คอแข็งขึ้น เริ่มเอื้อมมือไปหยิบจับสิ่งของ
ที่สนใจได้ และเริ่มทรงตัวท่านั่งได้ประมาณ 1 นาที
อายุ 7 – 9 เดือน เริ่มยกมือและเท้ามาที่ปาก คลานได้
เปลี่ยนจากท่านอนคว่ำมาสู่ท่านั่งได้ นั่งได้มั่นคงขึ้น
เริ่มพยายามจะเกาะเดิน และพยายามเขี่ยของชิ้นเล็กๆเข้ามาอยู่ในฝ่ามือได้
อายุ 10 เดือน สามารถเกาะเดินเอง และหยิบจับสิ่งของได้
อายุ 11 – 12 เดือน สามารถยืนเองได้ชั่วครู่
อายุ 15 เดือน สามารถเดินได้เตาะแตะ และคลานขึ้นบันไดได้
อายุ 18 – 24 เดือน สามารถวิ่ง เดิน และขึ้น–ลงบันได้
อายุ 3 – 5 ปี สามารถยืนขาเดียว และกระโดดได้ทั้งขาเดียวและสองขา
อายุเท่าไหร่? ถึงควรพบแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
ปกติแล้วเด็กทุกคนควรได้รับการตรวจพัฒนาการตั้งแต่แรกเกิด
ทุกครั้งที่มารับวัคซีน และควรได้รับการตรวจคัดกรองพัฒนาการที่อายุ 9, 18, 24
หรือ 30 เดือน เพื่อประเมินพัฒนาการและพฤติกรรม หากพบว่า
มีพัฒนาการช้าหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก็ควรพบแพทย์ด้านพัฒนาการ
เพื่อรับการตรวจ และรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
และควรได้รับการตรวจการได้ยินและตรวจการมองเห็นเป็นระยะๆ
แนวทางการรักษา
หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการประเมินสาเหตุ
ที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางพัฒนาการ วางแผนการรักษา
ซึ่งหากมีข้อบ่งชี้ เช่น ภาวะเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย
มีปัญหาสุขภาพทางกาย การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา
แพทย์อาจพิจารณาส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงการพิจารณาให้ยาในกรณีต่างๆ
พร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาการ เข้ารับการฝึกพัฒนาการด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น
หากเด็กมีปัญหาทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ควรได้รับการดูแลโดยนักกายภาพบำบัด
เพื่อป้องกันการลีบและหดเกร็งของกล้ามเนื้อ หากมีปัญหาเกี่ยวกับการพูด
ควรได้รับการดูแลโดยนักกิจกรรมบำบัดและนักจิตวิทยาร่วมด้วย
การที่คุณพ่อและคุณแม่มีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูลูกที่ถูกต้อง
ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดในการส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้โตอย่างสมวัย
และสังเกตได้ว่าลูกมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยแล้วหรือยัง
หากมีข้อสงสัยหรือเห็นว่าลูกมีพัฒนาการช้าควรปรึกษาแพทย์
— ที่มา โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา —