ครูจะสร้างแรงจูงใจและความสำเร็จ ให้เกิดขึ้นแก่เด็กได้อย่างไร?

จากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปีของ แครอล ดเว็ค ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐอเมริกา พบว่า  ระดับสติปัญญาและความฉลาดของมนุษย์มีความสำคัญน้อยกว่าความมานะพยายามและความรู้สึกท้าทายที่จะแก้ปัญหา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่เรามักพบว่าเด็กที่มีไอคิวสูงและมีผลการเรียนดีในระดับประถมจำนวนไม่น้อย เมื่อขึ้นไปเรียนในระดับมัธยมแล้วมีผลการเรียนที่ตกต่ำลง ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่ครูขาดความรู้ความเข้าใจในการสร้างกระบวนการจูงใจให้เด็กสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองหรือสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง

ในการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองนั้น ครูจะต้องส่งเสริมให้เด็กคำนึงถึงเรื่องกระบวนการเรียนรู้มากกว่าการพิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้ที่มีความฉลาดเฉลียว และในยามที่เด็กประสบความยากลำบากหรืออุปสรรคในการเรียน เด็กจะต้องมีใจจดจ่ออยู่ที่ความพยายามและการเลือกใช้ยุทธศาสตร์ต่างๆ ในการแก้ปัญหา แทนที่จะวิตกกังวลว่าตนเองไร้ความสามารถ 

“สิ่งที่ครูจำเป็นต้องทำเพื่อช่วยให้เด็กมีคุณสมบัติดังกล่าวคือ ครูจะต้องให้ความสำคัญกับความพยายามของเด็กมากกว่าเรื่องของความสามารถ และเมื่อเด็กประสบความสำเร็จ ครูควรชมเชยความมานะพยายามของเขาหรือยุทธศาสตร์ที่เขาใช้ ไม่ใช่ชมเชยความฉลาด ในทางตรงข้าม เมื่อเด็กมีปัญหาในการเรียนหรืออื่นๆ ครูจะต้องชี้ให้เด็กเห็นในเรื่องความพยายามหรือยุทธศาสตร์ที่เด็กใช้ว่า ตรงไหนที่ยังคงเป็นปัญหา และเด็กสามารถแก้ไขได้โดยวิธีใดบ้าง”

การสร้างความเชื่อมั่นในตนเองและการกระตุ้นส่งเสริมให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ที่ดีนั้น ครูจะต้องทำให้เด็กเห็นคุณค่าของการทำงานหนัก การเรียนรู้ และการท้าทาย เมื่อเด็กมีปัญหาในการเรียนหรือไม่สามารถทำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ครูต้องสอนให้พวกเขารู้จักวางแผนที่จะใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ และใช้ความพยายามมากขึ้น โดยตัวครูเองนั้นจะต้องสอนทักษะการเรียนรู้ต่างๆ เพิ่มขึ้นที่จะช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

กล่าวโดยสรุปคือ การชมเชยเด็กว่าฉลาดหรือเก่งจะทำให้เด็กรู้สึกดีเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น แต่ผลเสียที่ติดตามมาคือ เด็กจะกลัวการท้าทายและไม่สามารถเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรค ในขณะที่เด็กที่ได้รับคำชมเรื่องความพยายามจะเกิดความเชื่อมั่นว่าตนเองเป็นนักเรียนรู้ ชอบการท้าทาย และมีทักษะในการเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรค 

“ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าการชมเชยเด็กไม่สำคัญ แต่ในการชมเชย ครูต้องชมที่ตัวกระบวนการทำงานของเด็ก เช่น ความมานะพยายาม ยุทธศาสตร์ที่เด็กใช้ ความคิดของเด็ก ตัวเนื้องาน ไม่ใช่ชมตัวบุคคล”

งานศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ น่าจะช่วยให้ข้อคิดแก่ครูไทยในการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนได้ไม่มากก็น้อย นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ครูสามารถลงมือปฏิบัติได้ไม่ยาก และครูทุกคนทำได้ 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https:/nawaporn.wordpress.com

เรียบเรียงโดย

นางสาวอัจฉราพร กิจสิพงษ์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ

บทความเรื่อง อย่ากระพริบตา เรื่องที่ครูและคนยุคใหม่ต้องรู้
คุณเริ่มไม่ชอบคณิตศาสตร์ตอนไหน!